คัดมาจากหนังสือ .. "ย้อนรอยกรรม ตำนานพระสุพรรณกัลยา" .. เขียนโดย หลวงปู่โง่น โสรโย (หน้า 161-162)

ถ้อยแถลงท้ายเรื่อง

ท่านผู้อ่านโปรดทราบ ในเนื้อเรื่องของหนังสือเล่มนี้ ส่วนมาก ก็ได้กล่าวไว้ที่เรื่องนั้นๆ ที่ได้มาจากฝัน ซึ่งเป็นเรื่องเหลวไหล ไร้สาระ ของบุคคลบางจำพวก ซึ่งก็เกือบจะร้อยทั้งร้อย ไม่ค่อยจะเชื่อ คือหากจะมีตำรากล่าวไว้ ในมหาสุบินนิมิตสูตร ซี่งเป็นนิมิตความฝัน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี หรือหลายๆ ที่กล่าวไว้ ในศาสนาต่างๆ ว่า พระผู้เป็นเจ้า God มาเข้าฝันก็ดี หรือเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งสุดท้าย พระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระสุบิน (ฝันว่า) บรรดาทวยเทพเทวา มาห้ามไม่ให้อยู่ที่เดิม คือไม่ให้ทรงสร้าง เมืองหลวงขึ้นที่เดิม คือกรุงศรีอยุธยา พระองค์จึงทรงยาตราทัพ ไปตั้งที่บางกอก คือก่อนนั้นชื่อบางกอก และข้างวัดมะกอก จึงขอบอกว่า เรื่องฝัน มีมานาน หลายร้อย หลายพันปีแล้ว ส่วนมากก็เป็นเรื่องจริงตอนหลัง

แต่เรื่องที่ผู้เขียนได้อธิบายไว้ ในหนังสือเล่มนี้ คือตัวของคน คือตัวจริง เห็นก็รู้ คือรู้จักว่าเป็นใคร ชื่ออะไร ส่วนตัวที่สอง คือตัวเป็น คือเป็นโน่น เป็นนี่ เขาเป็นอะไร เป็นใคร ตัวนี้รู้ จึงจะเห็น ส่วนตัวที่สาม คือตัวแฝง ซึ่งเป็นตัวนามธรรมล้วนๆ เป็นเรื่องที่ผู้อ่านสนใจมาก จึงทำให้หนังสือเล่มนี้ พิมพ์ออกแจกไม่ทัน และก็ทำให้ผู้เขียนเอง ตลอดทั้งโรงพิมพ์ด้วยจะบ้าเอา เพราะการขอมาไม่ขาดสาย วันละหลายสิบราย เพราะพิมพ์ออกแจกฟรี พิมพ์ด้วย กระดาษอย่างดี ราคาแพงๆ ยังมาแจกฟรีได้ ไม่หมดตัวให้รู้ไป ทั้งนี้เพราะ ผู้เขียนเองตระหนักดีว่า เราเป็นพระ เป็นนักบวช เราต้องเป็นผู้ให้ มิใช่ผู้เอา ถือว่าการทำอะไร ถ้าหวังความร่ำรวย หวังผลกำไร มิใช่วิสัยของสมณะ เพราะ ผู้เขียนเป็นพระนักให้ ที่ได้กล่าวมาแล้ว มิใช่พระนักรบ คือรบกวนชาวบ้าน รบมาได้ไม่รู้จักพอ (ไม่รู้จักเอือม เป็นทาสของตัณหา)

อันเรื่องตัวแฝงนั้น ก็คือการแยกตัวรูปธรรม คือตัวจริง กับตัวเป็น นี้ออกให้เป็นสองภาค หลายท่าน อาจไม่รู้ ไม่เข้าใจว่า เป็นเรื่องวิเศษวิโส ของคนระดับอรหันต์ หรือผู้ถอดจิตได้ แต่ความจริงนั้น จิตกับกาย มันถอด ออกจากกันได้ ในเวลาที่กายสงบ ไม่ต้องทำอะไร ส่วนจิตใจก็อยู่ในภาวะที่สงบ จากอารมณ์ภายนอกเช่นกัน อย่างเรานอนฝัน ก็จะฝันในขณะที่กาย มันนอนหลับสบาย แล้วกายก็หลับ จิตก็ฝัน มันจะฝันไปตามเรื่อง เรื่องเหตุที่จะให้ฝันนั้น ได้กล่าวไว้แล้ว และอีกเรื่องที่สอง ผู้เขียนเอามากล่าว เป็นเรื่องราวไว้ในที่นี้ เอามาจากอาการที่กายสงบ อยู่สบายๆ ในที่สงัด ทางกายที่เรียกว่า กายวิเวก ส่วนจิตก็อยู่ในภาวะที่สงบ เรียกว่า จิตวิเวก คือ ทำสมาธิ จะเป็นชั้นไหนก็ได้ทั้งนั้น อันดวงจิตนี้เอง มันจะกลายเป็นสสาร ที่มีอยู่แล้วในบริเวณนั้น ที่มันมีอยู่ก่อน หลายสิบ หลายร้อย หลายพันปี มันจะไม่หายไปไหน ในทางวิทยาศาสตร์ก็มีหลักว่า E=mc2 (สสารย่อมไม่หายไปจากโลก) อันสสารของใหม่ คือ ตัวจิตวิญญาณของเรา พอมันคลุกเคล้ากับสสารเก่าที่มีอยู่แล้ว มันก็แสดงให้เป็นรูป ให้เห็นในฝันด้วยสายตา และเป็นเสียง ให้เราได้ยินทางโสตประสาท (ทางหู) ในจิตใต้สำนึก ก็เป็นฝันอีกเช่นกัน ท่านผู้อ่าน อ่านแล้วก็กรุณาอย่าหาว่า เป็นเรื่องเหลือวิสัยเลย โปรดให้ท่านเข้าไปอยู่ที่สงบ สงัด ทั้งกายและใจ ในสถานที่สงบสงัดดังกล่าวมาแล้ว ความรู้สึกนึกคิด ในจิตใจของเรา เบื้องต้นมันจะแบ่งกันเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายหนึ่ง มันจะสร้างความรู้สึกนึกคิด อยากเห็น อยากได้ความสงบ อยากพบกับความรับผิดชอบ ชั่วดี อีกฝ่ายหนึ่ง มันอยากจะคลุกคลีกับธุลี คือกิเลสตัณหา ทั้งสองฝ่ายในดวงจิตเรา มันโอเคลงรอยกันได้ ตอนนี้สมาธิจิต คือ จิตเป็นหนึ่ง รวมเข้ากับสสาร ที่มีอยู่บริเวณนั้น มันจะเกิดเป็นแสงสว่างทางจิต วิญญาณ ความมืดมน ที่ทำให้จิตวิญญาณ มันหายไป อันสิ่งใดๆ ในอดีตกาลมันจะผ่านเข้ามา ให้รู้ได้ทางจิต มีนักปราชญ์ทางจิตวิญญาณหลายท่าน ได้เขียนไว้ อย่างท่านพุทธทาสท่านพูด ท่านคุยอยู่คนเดียว กับก้อนหิน ที่เป็นรูปอวโลกเตศวร ท่านหลวงวิจิตรวาทการ ท่านนั่งคุยอยู่คนเดียวกับพระนารายณ์ ท่านคึกฤทธิ์ ปราโมช สนทนากับพระประธาน ท่านสมภารกร่าง คุยกับพระพุทธรูปทั้งวัน ในเรื่องไผ่แดง และตัวผู้เขียนเอง นั่งคุยกับก่อไผ่ แต่ข้างใน เป็นเสาหลักเมืองโบราณ จนได้ขุดค้นขึ้นมา และได้สร้างไว้ให้ชาวพิจิตร ดังนั้น จึงขอให้ท่านผู้อ่าน ได้เข้าใจว่า อันตัวแฝง วิญญาณแฝง มันมีอยู่ในดวงจิตของท่านแล้ว คืออยู่ในดวงจิตของทุกๆ คน แต่คนเราส่วนมาก มองข้ามไป ไม่นำออกมาใช้ มันจึงเกิดทุกข์ เพราะจิตวิญญาณ มันโดนขัง ฝังลึกอยู่กับโลภ โกรธ หลง สารพัด จงหาทางฝึกหัดกันบ้าง เพื่อเป็นเรือนที่พัก เป็นวิมานของจิตใจ แล้วใจจะได้รับความสุข ความสว่างเหินห่างจากทุกข์ภัย

... ติดตามตอนต่อไป ...
... กลับไปยังหน้าแรก ...