พระสุพรรณกัลยา ทรงเป็นพระธิดาใน สมเด็จพระมหาธรรมราชา และ พระวิสุทธิกษัตรีย์ เป็นพระพี่นางของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ สมภพเมื่อวันเสาร์ ปีมะเส็ง พุทธศักราช ๒๐๙๕ ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก (บริเวณที่ตั้ง โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ในปัจจุบัน)

พระองค์เป็นวีรสตรีผู้กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ ยอมพลัดพรากจากแผ่นดินไทย ไปเป็นองค์ประกัน ณ กรุงหงสาวดี เพื่อแลกกับ องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ต่อมาได้ทรงสิ้นพระชนม์ชีพ ในแผ่นดินพม่า อย่างไร้พิธีอันสมพระยศ ความเสียสละอันใหญ่หลวง ของพระองค์ในครั้งนั้น เป็นผลทำให้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกลับมากอบกู้เอกราชของชาติไทยได้สำเร็จ วีรกรรมดังกล่าวของพระสุพรรณกัลยา จึงสมควรได้รับการเทิดพระเกียรติให้แพร่หลาย ยิ่งขึ้นสืบไปตลอดกาลนาน ...

    สถานที่สักการะบูชา :
  1. "พระอนุสาวรีย์ พระสุพรรณกัลยาณี" ณ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
    (กองทัพภาคที่ 3) อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก


  2. พระบรมรูป สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระรูป พระสุพรรณกัลยา
    ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

  3. พระบรมรูป พระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ
    ณ วัดลาดสิงห์ ตำบลบ้านสระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี


  4. พระรูป ณ พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วัดดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี


  5. พระเจดีย์ ณ วัดบ้านน้ำฮู อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เชื่อกันว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างถวายพระสุพรรณกัลยา
    และภายในพระเจดีย์ ได้บรรจุเส้นพระเกษาของพระพี่นางฯ ไว้ด้วย

ตำนานพระสุพรรณกัลยา

หลังสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก เมื่อปี พุทธศักราช ๒๑๑๒ พระนาง และพระอนุชา ทั้งสองพระองค์ ได้ถูกพระเจ้าบุเรงนอง กวาดต้อนไปเป็นเชลย ยังเมืองหงสาวดี พร้อมด้วยพระมหินทราธิราชเจ้าเหนือหัว แต่พระมหินทราธิราช เสด็จสวรรคตที่เมืองอังวะเสียก่อน พม่าจึงแต่งตั้งให้ พระมหาธรรมราชา ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ในขณะที่โอรสและธิดายังเป็นเชลยอยู่ เพื่อเป็นองค์ประกัน ป้องกันการคิดทรยศของฝ่ายไทย

ทั้งสามพี่น้องอยู่ที่หงสาวดีถึง ๖ ปี จึงได้กลับมากรุงศรีอยุธยาครั้งหนึ่ง เมื่อพระนาง มีพระชนมายุได้ ๑๙ พรรษา ด้วยเหตุที่ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง เกิดความพึงใจในพระสิริโฉม ของพระสุพรรณกัลยา จึงมาสู่ขอจากพระมหาธรรมราชา และนำกลับไปอภิเษก เป็นพระชายา ณ เมืองหงสาวดี ต่อมาพระนางได้ออกอุบาย ทูลขอให้พระอนุชาทั้งสองพระองค์ กลับสู่กรุงศรีอยุธยา โดยอ้างว่า เพื่อไปช่วยพระบิดารับศึก พระยาละแวกแห่งเขมร

พระสุพรรณกัลยา มีสภาพเหมือนถูกทอดทิ้ง ให้ผจญกรรมเพียงลำพัง กับไพร่พลเล็กน้อย ในท่ามกลางหมู่อริราชศัตรูทั้งสิ้น แต่กระนั้นพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ก็ทรงมีพระเมตตา รักใคร่สิเนหา แก่พระสุพรรณกัลยาอยู่ไม่น้อย และด้วยบารมีแห่งพระสุพรรณกัลยา ได้ปกแผ่คุ้มครองแก่คนไทย ที่ตกเป็นเชลยอยู่ในเมืองพม่า มิให้ได้รับความลำบาก

ต่อมา มังไชยสิงหราช (นันทบุเรง) โอรสของพระเจ้าบุเรงนอง เป็นผู้มักมากในกามคุณ และต้องการเป็นใหญ่ จึงร่วมมือกับชายาชาวไทยใหญ่ นามว่า "สุวนันทา" วางแผนชิงราชสมบัติ และแย่งอำนาจ ทำให้พระเจ้าบุเรงนองตรอมพระทัย และสวรรคตอย่างกระทันหัน เมื่อพระเจ้านันทบุเรงขึ้นครองราชย์ เกิดความวุ่นวาย เนื่องด้วยการไม่ยอมรับ ของพระญาติวงศ์หลายฝ่าย ทำให้พระเจ้านันทบุเรง เกิดความหวาดระแวง กอปรด้วยรู้ว่า มีการรวบรวมไพร่พล เตรียมการกู้ชาติ ของ พระนเรศวร และพระเอกาทศรถ ทางเมืองไทย จึงสั่งจับจองจำพระมารดาเลี้ยง (พระสุพรรณกัลยา) และพระธิดาองค์แรกของพระนาง ให้อดอาหาร ลงโทษทัณฑ์ ทุบตี โบย อย่างทารุณ ในขณะที่พระนาง ทรงครรภ์แปดเดือน จนพระธิดาสิ้นพระชนม์ จากนั้น ก็ทำทารุณกรรมต่อพระนางอีก จนอ่อนเปลี้ยสิ้นเรี่ยวแรง แล้วใช้ดาบฟัน ฆ่าพระนางพร้อมด้วยทารกในครรภ์ แม้ร่างกายของพระนางสิ้นสูญแล้ว ก็ยังไม่เป็นที่สาแก่ใจ ของพระเจ้านันทบุเรง แม้ดวงพระวิญญาณของพระองค์ ก็ถูกกระทำพิธีทางไสยศาสตร์ ตราสังรัดตรึง ไม่ให้วิญญาณกลับสู่เมืองไทย ให้วนเวียนอยู่ อย่างทุกข์ทรมานนานนับร้อยปี ...

ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๑ หลวงปู่โง่น โสรโย แห่งวัดพระพุทธบาทเขารวก อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ได้รับกิจนิมนต์จาก พระมหาปีตะโก ภิกขุ ให้ไปช่วยงานด้านประติมากรรม ซ่อมแซมรูปลายฝาผนัง ที่เมืองพะโค (หงสาวดี) ประเทศพม่า ในขณะนั้น ประเทศพม่ามีเหตุการณ์ทางการเมืองภายใน เกี่ยวกับสมณศักดิ์พระภิกษุ หลวงปู่โง่น พลอยต้องอธิกรณ์โทษการเมืองไปด้วย กลับเมืองไทยไม่ได้ ระหว่างถูกกักบริเวณ ท่านใช้เวลาในการฝึกจิต กำหนดตัวแฝง และพลังแฝงในกายได้ สามารถติดต่อกับโลกวิญญาณ และได้เข้าถึงกระแสพระวิญญาณที่สื่อสารต่อกัน กล่าวว่า ท่านเคยเป็นนายทหารช่าง สร้างบ้านเรือน ทั้งยังเคยถูกพม่ากวาดต้อนไป พร้อมกับพระนางในครั้งนั้น เคยเป็นข้ารับใช้ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และกรุงธนบุรี พระสุพรรณกัลยา ได้ขอร้องให้หลวงปู่โง่น ช่วยแก้พันธนาการทางไสยศาสตร์ เพื่อดวงพระวิญญาณของพระองค์ จะได้กลับไปเมืองไทย และให้นำภาพลักษณ์ของพระองค์ อันเกิดจากกระแสพระวิญญาณ เผยแพร่ให้แก่ชาวไทย ผู้ลืมพระองค์ท่านไปแล้ว พระองค์จะกลับมาทำคุณประโยชน์ ช่วยเหลือประเทศชาติ ทั้งยังปณิธาน จะกลับมาอุบัติเป็น เจ้าหญิงในปัจฉิมสมัย ของวงศ์กษัตริย์ไทย จะสร้างบารมี ประกอบคุณความดี เพื่อให้อยู่ในหัวใจ ของคนไทยทั้งประเทศ ด้วยเหตุเพราะคนไทย ลืมคุณกู้ชาติของพระองค์ ที่ยอมสละความสุขในชีวิต เพื่อให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ มีโอกาสกู้ชาติบ้านเมืองได้สำเร็จ

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น หลวงปู่โง่น โสรโย และท่านพลโทถนอม วัชรพุทธ แม่ทัพกองทัพภาคที่ ๓ ได้ร่วมมือกันสร้าง พระอนุสาวรีย์ ของพระสุพรรณกัลยา มีขนาดเท่าองค์จริง และได้อัญเชิญ มาประดิษฐานไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ในบริเวณ "ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ใกล้กับพระบรมราชานุสาวรีย์ พระอนุชาทั้งสองพระองค์ โดยได้นำส่วนของสรีระ เช่น กระดูก ฟัน และเครื่องประดับของมีค่าบางอย่าง ที่ขุดค้นได้จาก แหล่งฝังพระศพของพระนาง นำมาบรรจุในพระอุระของพระรูปด้วย เพื่อให้ชาวไทยทุกคน ได้มีโอกาสเคารพสักการะ วีรสตรีผู้เสียสละยิ่งใหญ่กว่าผู้ใด เพียงให้สยามไทย ได้คงอยู่ชั่วฟ้าดิน ....

พล.อ. เชษฐา ฐานะจาโร ผบ.ทบ. ทำพิธีอัญเชิญพระรูปหล่อ พระนางสุพรรณกัลยา ขึ้นบนแท่นอนุสาวรีย์ ภายในค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก โดยมีทหารกองเกียรติยศคอยต้อนรับ

พลโทถนอม วัชรพุทธ แม่ทัพภาคที่ ๓ เป็นประธานพิธีเททองหล่อพระรูปบูชาขนาดเล็ก ของพระพี่นางฯ เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๐
พล.อ. เชษฐา ฐานะจาโร ผบ.ทบ. เข้านมัสการหลวงปู่โง่น โสรโย, พระเจ้าแสงหล้า รองเจ้าคณะใหญ่ นครเชียงตุง, พระราชญาณปรีชา วัดราชผาติการาม, และพระปรีชา เลขานุการหลวงปู่โง่น

"... โปรดเถิดพระบิดาอย่ากังวลลูกรู้จักหน้าที่ตนอย่างสมบูรณ์
โดยเลือดเนื้อเชื้อไขเป็นไทยชาติโดยวงศ์ญาติยศไกรมไหศูรย์
โดยประวัติแกล้วกล้าทั้งตระกูลประชาชนเทอดทูนทั่วเวียงไชย
ถ้าเกิดมาเป็นชายก็ได้ฉัตรปกป้องครองรัฐยิ่งใหญ่
จะรอรบต่อสู้กู้กรุงไกรคืนเอามาเป็นไทดังก่อนกาล
เสียดายที่เกิดเป็นสตรียากที่จะเข้าหักหาญ
รบรอต่อกรรอนราญ ประจัญบานเช่นชายชาตรี
ขอพระจงนำข้าไปแลกน้อง รวมเป็นสองรองบาทบทศรี
กู้เกียรติอยุธยาธานีไม่ช้าทีก็จะฟื้นคืนตัว ..."

( จากบทละครเรื่อง สมเด็จพระนเรศวรและพระสุพรรณกัลยา ของ สมภพ จันทรประภา )

... องค์เจ้าฟ้า ผู้ยอมพราก จากสยาม จากเขตคาม จากฉัตรชัย ไอศวรรย์
จากบุคคลที่รัก จากฐานันดร์ ยอมเป็นองค์ประกัน ต่างแผ่นดิน
ถูกเหยียบย่ำ ศักดิ์ศรี แห่งชีวิต ทรงตรอมจิต เคว้งคว้าง อยู่ต่างถิ่น
พระอัสสุชล ท้นพระทัย เอ่อไหลริน ก่อนจะสิ้น พระชนม์ชีพ เพียงลำพัง
ไร้พิธี สมพระยศ รันทดอก ไร้พระชนก พระชนนี ที่มุ่งหวัง
ไร้องค์พระอนุชา มาประนัง เมื่ออยู่ยัง แดนไกลโพ้น คนละทิศ
พลีพระชนม์ เพื่อคนไทย ได้ดวงแก้ว สว่างแวว พระบารมี ที่ไพจิตร
"พระนเรศวรมหาราช" ประกาศฤทธิ์ ทรงกู้สิทธิ์ เอกราช คืนชาติไทย ...

( ประพันธ์โดย คุณณรงค์ อิ่มเย็น .. สมาชิกบริษัทสกายไลน์ยูนิตี้ )

คาถาบูชาพระสุพรรณกัลยา :
(ตั้งนะโม สามจบ)
เอหิภูโต มหาภูโต สะมะนุสโส สะเทวะโก กะโรหิ เทวะทิตานัง อาคัจเฉยะ อาคัจฉาหิ
เอหิวิญญานะ สุพรรณกัลละยา เทวะทิตา อาคัจเฉยยะ อาคัจฉาหิ มานิมามา